20 มิถุนายน 2567
การที่อุณหภูมิในอินเดียแตะ 40 องศาเซลเซียสกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่นั่นกลับต้องแลกมาด้วยชีวิตของประชาชนจำนวนมาก สำนักข่าว BBC รายงานว่า ขณะนี้ อุณหภูมิรายวันในอินเดียพุ่งถึง 40 องศาเซลเซียส และบางวันอุณหภูมิสูงสุดแตะถึง 50 องศาเซลเซียส สภาพอากาศที่ร้อนจัดถึงขั้นทำให้ “ฝูงนกหล่นจากท้องฟ้า”
ผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
เมื่อพิจารณาข้อมูลจากหลายหน่วยงานพบว่า สถานการณ์ความร้อนในอินเดียน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ศูนย์ควบคุมโรคอินเดียระบุว่า โรคลมแดดจัดอยู่ในสถานะ “อันตรายถึงชีวิต” โดยผู้ป่วยโรคลมแดดมีอัตราการเสียชีวิตระหว่าง 40-64%
โรงพยาบาลในอินเดียรายงานว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ป่วยจำนวนมากเข้ามารักษาโรคลมแดดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้โรงพยาบาลประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ
เบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุขอินเดียได้สั่งให้สถาบันของรัฐบาลกลางและสถาบันของรัฐจัดลำดับความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยทันที ขณะที่โรงพยาบาลในกรุงเดลีซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ก็ได้รับคำสั่งให้เพิ่มความจุเตียง
สถิติและการรายงานผู้ป่วย
เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในช่วงฤดูร้อนนี้ มีผู้ป่วยโรคลมแดดมากกว่า 40,000 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 110 ราย ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 18 มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกของอินเดียเผชิญกับจำนวนวันที่มีคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่ทำงานกลางแจ้ง หรือต้องทำงานในโรงงานขนาดเล็กที่มีพนักงานอยู่กันอย่างแออัด ล่าสุดมีเคสผู้ป่วยเพศชายที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลพร้อมกับอุณหภูมิในร่างกายที่สูงถึง 42 องศา ที่อุณหภูมินี้ร่างกายของมนุษย์จะเข้าสู่ภาวะหยุดทำงาน เซลล์เสื่อมสภาพ และมีความเสี่ยงที่อวัยวะภายในจะล้มเหลว คลินิกในอินเดียจึงหาวิธีแก้เบื้องต้นเพื่อลดอุณหภูมิผู้ป่วยแบบเฉียบพลันด้วยการจุ่มผู้ป่วยโรคลมแดดลงไปในอ่างเซรามิกที่บรรจุน้ำแข็งเอาไว้ แช่ไว้ประมาณ 25 นาที เมื่อดีขึ้นแล้วจึงส่งไปรักษาต่อในขั้นตอนถัดไป
สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/851093