9 มิถุนายน 2567
เหตุการณ์วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบกิจการของเอกชนคู่สัญญาของเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้เดินระบบเตาเผาและผลิตพลังงานไฟฟ้า จากรายงานที่ได้รับจากจังหวัดสงขลาว่า ผู้ประกอบการรายนี้ได้ลักลอบนำขยะเทลงในพื้นที่พรุจูด (พื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ) ไม่ไกลจากสถานที่ฝังกลบขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่ ตำบลควนลัง นอกจากนี้ยังพบว่า มีขยะล้นออกนอกอาคารเก็บเชื้อเพลิง และมีการลักลอบขนย้ายขยะไปยังโรงงานคัดแยกในตำบลคลองหอยโข่งโดยไม่กำจัดด้วยการเผาตามสัญญาระหว่างผู้ประกอบการและเทศบาลนครหาดใหญ่ และไม่ปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สาเหตุจากที่ระบบเตาเผานี้ไม่สามารถเดินระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะและเกิดกลิ่นรบกวน จนเกิดความเสียหายต่อสาธารณะ
คำสั่งพักใบอนุญาตและการแก้ไขปัญหา
วันที่ 7 เมษายน 2566 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของผู้ประกอบการรายนี้ โดยเห็นว่าการกระทำของผู้ประกอบการเข้าข่ายเป็นกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศและอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ คำสั่งดังกล่าวยังให้โอกาสแก่ผู้ประกอบการโดยให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งในสองประเด็น คือ 1) ปรับปรุงกระบวนการผลิตก๊าซสังเคราะห์และกระบวนการเผาไหม้ให้มีประสิทธิภาพ และ 2) บริหารจัดการเถ้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามกฎหมาย นั่นหมายถึงภายในเดือนตุลาคม 2566 ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการในสองประเด็นข้างต้นให้เรียบร้อยเพื่อยกเลิกคำสั่งพักการใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าต่อไป
ปัญหาหลังการพักใบอนุญาต
การพักใบอนุญาตทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียรายได้จากการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและทำให้ต้องหยุดดำเนินการเตาเผาขยะโดยปริยาย เป็นการละเมิดสัญญาที่ทำไว้กับเทศบาลนครหาดใหญ่ด้วย โดยเทศบาลนครหาดใหญ่ได้บันทึกข้อมูลการละเมิดสัญญาของผู้ประกอบการตั้งแต่ปี 2558 โดยผู้ประกอบการนำขยะที่ไม่กำจัดด้วยการเผาไปเทกองทิ้งนอกพื้นที่จนเป็นเหตุให้เกิดการร้องเรียนจากชุมชนและหน่วยงานราชการข้างเคียง จำนวน 28,662 ตัน ปี 2559 จำนวน 14,820 ตัน ปี 2560 จำนวน 30,024 ตัน ปี 2561 จำนวน 2,598 ตัน เป็นต้น การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อกำหนดในสัญญา แต่เทศบาลนครหาดใหญ่ยังคงให้โอกาสผู้ประกอบการแก้ไขปัญหาเสมอมา โดยไม่บังคับใช้ข้อกำหนดในสัญญาว่าด้วย “สิทธิของผู้รับสัญญาในการบอกเลิกสัญญา”
เดือนตุลาคม 2566 เมื่อครบกำหนด 180 วันที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานให้โอกาสแก่ผู้ประกอบการปรับปรุงแก้ไขตามรายการที่ให้ไว้ในคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่ไม่มีการดำเนินการแก้ไขใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งความยุ่งยากเกิดขึ้นแก่เทศบาลนครหาดใหญ่ที่ต้องจัดการกับขยะรายวันอย่างน้อยวันละ 200 ตัน โดยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากนำไปเทกองบนกองขยะเก่า และแม้จะพยายามใช้วิธีการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน แต่ยากที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาทั้งกลิ่นและน้ำเสียจากกองขยะที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ต่อมามีข่าวว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอาจยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการของผู้ประกอบการรายนี้ ซึ่งหมายความว่าเตาเผานี้คงไม่กลับมาเดินระบบอีก
การประเมินของคณะทำงานเฉพาะกิจ
คณะทำงานเฉพาะกิจของเทศบาลนครหาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และนักวิชาการ ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อร่วมกันหาทางออก โดยประเมินว่าในระยะยาวเทศบาลหาดใหญ่จำเป็นต้องร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ที่จะต้องใช้ระบบกำจัดร่วมที่เหมาะสม ส่วนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงเวลา 2-3 ปี เทศบาลนครหาดใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพาท้องถิ่นอื่นๆ แบ่งเบาภาระไปก่อน ขณะเดียวกันเทศบาลนครหาดใหญ่จำเป็นที่ต้องทบทวนกระบวนการจัดการขยะทั้งระบบ
ข้อสรุปของคณะทำงานเกี่ยวกับการกลับมาให้บริการของผู้ประกอบการ
คณะทำงานสรุปว่าการกลับมาให้บริการของผู้ประกอบการเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุผล 3 ประการ
1. ในช่วงเวลาที่ยังคงได้รับการสนับสนุนตามนโยบาย Adders ของกระทรวงพลังงาน รายได้ส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากค่ากำจัดที่ท้องถิ่นจ่ายเป็นค่าบริการ แต่หลังจากสิ้นสุดการสนับสนุนตามนโยบาย Adders ในปี 2563 รายได้จากการขายพลังงานไฟฟ้าลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นผลให้รายได้ทั้งหมดไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการเดินระบบ
2. เทคโนโลยีที่ใช้ไม่เหมาะสม เป็นปัญหามาตั้งแต่เริ่มเดินระบบ และส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งภายหลังที่หยุดเดินระบบ เครื่องจักร อุปกรณ์ชำรุดเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว การจะกลับมาเดินระบบใหม่ จำเป็นต้องลงทุนอีกครั้งเพื่อปรับปรุงและซ่อมแซม การลงทุนดังกล่าวในสภาวะที่โรงงานไม่สามารถทำรายได้ให้เพียงพอจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
3. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสัญญาที่นำไปสู่กระบวนการตรวจสอบและพิจารณาของคณะทำงานต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงการรับฟังความเห็นจากชุมชนโดยรอบ จากสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะผ่านความเห็นชอบจากเทศบาลเมืองควนลังและชุมชนในพื้นที่
สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.matichon.co.th/article/news_4608361
https://xn--12cbo1h3a1af9cg4n.com/news/
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4615541