1 พฤษภาคม 2567
การกำกับควบคุมและดูแลโรงงานจัดการกากของเสียอันตราย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน มีข้อเสนอแนะจากอาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งจะต้องเริ่มจากต้นตอของปัญหาที่พบเจอในโรงงานในประเทศไทย โดยโรงงานเหล่านี้มีปัญหาหลายประการ เช่น การบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม และการฝังกลบกากอุตสาหกรรมอันตรายในพื้นที่โรงงาน
ข้อเสนอแนะจากนักวิชาการ
- โรงงานคัดแยกและรับรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย ควรตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมแทนที่จะตั้งในชุมชน และควรจัดทำรายงานอีไอเอเปิดรับฟังความเห็นประชาชนก่อนการตัดสินใจ
- การยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 4/2559 เกี่ยวกับการอนุญาตให้ตั้งโรงงานประเภทที่เป็นอันตรายในชุมชน ยกเว้นกฎหมายผังเมืองระยะเวลา 1 ปี
- โรงงานที่ตั้งอยู่ในชุมชน ควรกระจายอำนาจให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ด้านกากอุตสาหกรรมของ พ.ร.บโรงงานในชุมชน เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดการกากอุตสาหกรรมนั้นเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ โดยมีเจ้าหน้าที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานรับผิดชอบ รวมทั้งให้ประชาชนคอยเฝ้าระวังการลักลอบขนกากอุสาหกรรมไปทิ้ง
- การแก้ไขเรื่องกำลังคนในการจัดการไม่เพียงพอ กรมโรงงานควรจัดตั้ง และขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบให้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ในทุกครั้งที่มีการขนย้ายจากทางต้นทางและปลายทาง รวมถึงจัดการกากอุตสาหกรรมในโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย
- การทำประกันภัยด้านสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่โรงงานควรให้ความสำคัญ เพื่อมั่นใจว่าการดำเนินกิจกรรมภายในโรงงานจะไม่ส่งผลกระทบเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน หากเกิดปัญหาประกันจ่ายเงินชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทันที
- การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Guarantee Fund) ให้โรงงานจ่ายเงินตามข้อกำหนดของกองทุน ในกรณีที่เกิดเหตุอุบัติภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน ทางรัฐบาลจะมีการนำเงินกองทุนมาจัดการปัญหา และฟื้นฟูประชาชน
- การปฏิรูปการอนุญาตในการตั้งโรงงานและการจัดการกากอุตสาหกรรม ต้องเป็นโรงงานขนาดใหญ่ เงินลงทุนมาก มีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดมลพิษ รวมถึงการปฎิรูประบบต่างๆ เช่น การขนย้ายกากอุตสาหกรรม การติดตาม รวมถึงการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาคอร์รัปชัน และประชาชนสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลการรายงาน เช่น การเก็บ ขนย้าย และการจัดการกากของแต่ละโรงงาน
ข้อเสนอแนะดังกล่าว จะช่วยให้มีการจัดการกับโรงงานที่จัดการกากของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างเหมาะสม โดยเป็นการยกระดับการกำกับดูแล และควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศไทย เป็นประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.thairath.co.th/news/local/2782038